ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย
ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย หรือ ป้อมสมิงพราย เป็นป้อมปราการ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ อยู่ภายในสถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารฟื้นฟู ๕ ชั้น ชื่อของป้อมมาจาก องค์ปู่เจ้าสมิงพราย เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือของชาวมอญคู่ป้อมปู่เจ้าสมิงพรายมาช้านาน
ประวัติ
ป้อมปู่เจ้าสมิงพรายสร้างในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗ โดยสร้างพร้อมป้อมปิศาจสิง ป้อมราหูจร และป้อมฝั่งตะวันตกอีก ๕ ป้อม คือ
มูลเหตุการณ์สร้างป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกต้องการปรับปรุงให้มีหัวเมืองชายทะเลที่มั่นคงแข็งแรงไว้รับทัพข้าศึก หลังเหตุการณ์ที่องเชียงสือซึ่งเป็นหลานของกษัตริย์ญวน ที่ได้หนีภัยการเมืองเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕ ลอบหนีกลับไปหลังจากอยู่ในประเทศไทยมาหลายปีจนรู้จักยุทธศาสตร์เมืองไทยเป็นอย่างดี กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทลงไปสำรวจพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกเมืองหนึ่ง ทรงเลือกบริเวณคลองลัดโพธิ์เป็นที่ตั้งเมือง จึงได้สร้างป้อมขึ้นหลังแรก คือ ป้อมวิทยาคม
จากนั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้สร้างเมืองต่อจนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๘ พระราชทานชื่อว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ พร้อมทั้งสร้างป้อมดังที่กล่าวเบื้องต้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗ โดยป้อมทั้งหมดชักปีกกาถึงกัน ทำกำแพงล้อมรอบข้างหลัง ตั้งยุ้งฉางตึกดินและศาลาไว้เครื่องศาสตราวุธ ที่ริมน้ำทำลูกทุ่นสายโซ่สำหรับขึงกั้นแม่น้ำ เอาท่อนซุงมาทำเป็นต้นโกลนร้อยเกี่ยวเข้ากระหนาบเป็นตอน ๆ เข้าไปปักหลักระหว่างต้นโกลนทุกช่อง ร้อยโซ่ผูกทุ่นมั่นคงแข็งแรง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ป้อมคงได้รับการปรับปรุง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ใช้ป้อมปู่เจ้าสมิงพรายเป็นโรงพยาบาลโรคเรื้อน ปัจจุบันเป็นสถาบันราชประชาสมาลัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ป้อมปู่เจ้าสมิงพรายได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๙๗ ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒
สถาปัตยกรรม
ลักษณะป้อมปู่เจ้าสมิงพรายเป็นป้อมสองชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคาป้อมเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ตัวป้อมเป็นรูปหกเหลี่ยมด้านไม่เท่า มีแนวกำแพงปีกกาต่อออกไปล้อมพื้นที่บริเวณป้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีป้อมรักษาการที่มุมกำแพง พบร่องรอยอยู่สามป้อม ส่วนแนวกำแพงปีกกาเหลือหลักฐานชัดเจนที่สุดคือทางด้านทิศเหนือ ตัวเชิงเทินก่อเว้นช่องเป็นระยะ
มีบันไดขึ้นสู่ลานป้อมชั้นบน ตรงกลางเป็นโรงเรือนห้องพักทหาร ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์ ตรงกลางมีมุขหน้าจั่ว ภายในอาคารกั้นเป็นห้อง ๆ พื้นปูด้วยไม้กระดาน ตัวอาคารมีการตกแต่งด้วยช่องวงโค้งและหัวเสาอิทธิพลศิลปะตะวันตก สันนิษฐานว่าคงต่อเติมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก วิกิพีเดีย และ คมชัดลึก